“บัลเล่ต์” มีดีมากกว่าแค่ระบำปลายเท้า

“บัลเล่ต์” มีดีมากกว่าแค่ระบำปลายเท้า

หากพูดถึง “บัลเล่ต์” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงแต่ระบำปลายเท้า  ที่คนเต้นใส่กระโปรงพลิ้ว หรือกระโปรงบานๆฟูฟ่อง  และถ้าจะพูดถึง  “การเรียนบัลเล่ต์”  ก็คงหนีไม่พ้นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆใส่ชุดบัลเล่ต์ไปหัดเต้นระบำปลายเท้าเท่านั้น แต่จริงๆแล้วบัลเล่ต์มีดีมากกว่าการเต้นระบำปลายเท้า  และผู้เรียนก็ไม่ได้จำกัดแค่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆเท่านั้น [ข้อมูลจาก  วิกิพีเดีย  ระบุ  บัลเล่ต์ (ballet)  หมายถึง  การแสดงประกอบด้วยการเต้นและดนตรีลักษณะเช่นเดียวกับอุปรากร  เพียงแต่บัลเล่ต์เป็นการนำเสนอเนื้อเรื่อง  โดยใช้การเต้นเป็นสื่อ] กำเนิดขึ้นในระหว่างศตวรรษที่  15  ที่ประเทศฝรั่งเศส  ต่อมาในศตวรรษที่ 19  ได้แพร่หลายเข้าไปในแระเทศอิตาลี  การพัมนาในยุคนี้คือ  นิยมให้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเอก  เรียกว่า  บัลเลรินา  (Ballerina) ศตวรรษที่ 20  บัลเล่ต์ได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า โมเดิร์นแดนซ์ (Modern Dance)  คือ  การนำหลักของบัลเล่ต์มาผสมผสานดัดแปลงให้เป็นการเต้น  โดยไม่ต้องใส่รองเท้าบัลเล่ต์และไม่ต้องใช้ปลายเท้าในลักษณะของบัลเล่ต์

สาครพรรณ  ภูรินิตย์  หรือ ครูนุ่นกรรมการผู้จัดการ  The  Artists Dance  Studio  กล่าวว่า  “การเรียนบัลเล่ต์ไม่ได้จำกัดอายุและเพศ  ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่  ผู้ชายหรือผู้หญิงก็สามารถเรียนบัลเล่ต์ได้  บัลเล่ต์ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ  และช่วยสร้างบุคลิกภาพให้กับเด็กๆ ได้เป้นอย่างดีส่วนผู้ใหญ่  การเรียนบัลเล่ต์ช่วยเพิ่มความสนุกสนาน  ได้ออกกำลังกาย และช่วยปรับบุคลิกภาพได้ด้วย” ถึงแม้ว่าการเรียนบัลเล่ต์จะไม่จำกัดเพศและอายุ  แต่คอร์สบัลเล่ต์ก็จะถูกออกแบบเป็นการเฉพาะ  แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของวัย การเรียนบัลเล่ต์สำหรับเด็กๆ จะมีทั้งหมด 12 เกรด  แต่ละเกรดจะเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ และทุกๆ ปี จะมีการทดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรจากสถาบัน  ADA  ประเทศออสเตรเลีย

บัลเล่ต์จะช่วยเสริมบุคลิกภาพ  ช่วยให้เด็กมีสมาธิและความจำดีขึ้น ทำให้กล้าแสดงออก  สร้างวินัยในตัวเอง  การเต้นเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายและทำให้หายเครียดได้  ทำให้ผู้เรียนมีสุขภาพจิตที่ดี ร่าเริงแจ่มใส  เพราะได้อยู่กับดนตรี  เสียงเพลง  และสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการผ่อนคลาย มีผลวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าคนที่มีสมาธิสั้น  การเต้นสามารถช่วยบรรเทาอาการนี้ได้  นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะทางสมอง  และประสาทสัมผัสทุกๆด้านให้มีความเชื่อมโยงได้ดียิ่งขึ้น เช่น การฟังเพลง การฝึกโฟกัสสายตา และการฝึกประสาทการเคลื่อนไหวของมือและเท้า

สำหรับผู้ใหญ่จะเป็นหลักสูตรเฉพาะ  เน้นการฝึกย่อ  เดิน  ชี้เท้า  ฝึกบุคลิกภาพ  เน้นการโพสท่ายืน  ท่าเดิน สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนเต้น  เดินไม่ตรงจังหวะ  ต้องฝึกการเข้าจังหวะ  ฝึกการฟังเพลง  ช่วยคลายเครียด ทำให้อยู่กับตัวเองมากขึ้น  รู้จักร่างกายดีขึ้น ผู้ใหญ่จะไม่เน้นการเรียนระบำปลายเท้า เพราะสภาพร่างกายไม่เหมาะสม  แม้แต่กับเด็กเอง  กว่าจะขึ้นไปยืนบนปลายเท้าได้  ก็ต้องใช้เวลาเรียนอย่างต่ำ  5  ปี  “การเต้นเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ นอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพ  บุคลิกภาพ  ยังช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย  อย่าไปกลัวการเต้น  ถ้าอยากทำ  ตั้งใจแล้วก็ทำเลย  อายุไม่ใช่ปัญหา  ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ขอแค่มีใจ  ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน  แค่อยากหากิจกรรมทำก็สามารถเรียนบัลเล่ต์ได้หมด”  ครูนุ่น  กล่าวสรุป

*ที่มา :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับที่  23,826  วันอังคารที่ 6 มกราคม  พ.ศ.2558  สกู๊ป: สรรหาสารพัน  หน้า 32